ตัวชี้วัดที่ใช้ในการบริหารศูนย์ Call Center
ทุกธุรกิจมีการกำหนดมาตรฐานตัวชี้วัดที่แตกต่างกัน เพื่อใช้สำหรับกลุ่มลูกค้าหรือกลุ่มเป้าหมาย เพื่อใช้ปรับปรุงประสบการณ์และสร้างความประทับใจ ตัวชี้วัดที่ใช้วัดประสิทธิภาพการทำงานในศูนย์ Call Center มีดังนี้
อัตราการให้บริการลูกค้า (Service Level)
เป็นการวัดความรวดเร็วในการรับสายของพนักงาน ยิ่งพนักงานรับสายของลูกค้าได้เร็วเท่าไหร่ ลูกค้าก็ยิ่งมีความพึงพอใจมากขึ้นเท่านั้น โดยทั่วไปแล้วจะกำหนดมาตรฐานที่ 80/20 คือ 80% ของสายเรียกเข้า จะต้องถูกรับภายใน 20 วินาที
นอกจากนั้น หากศูนย์ Call Center ไหนที่เป็น Omnichannel จะต้องมีการกำหนด Service Level ด้วย เช่น
ความเร็วในการตอบกลับ Email ควรจะเป็น 100% ภายใน 24 ชั่วโมง
ความเร็วในการตอบกลับ Live Chat ควรตอบกลับลูกค้า 80% ภายใน 20 วินาที
ความเร็วในการตอบกลับข้อความ Message หรือ SMS ควรตอบกลับลูกค้า 80% ภายใน 40 วินาที
อัตราเฉลี่ยการวางสาย (Average Abandonment Rate)
เป็นตัวเลขการวางสายของลูกค้าโดยเฉลี่ย ก่อนที่พนักงานรับสายจะรับ ใช้วัดการบริหารจัดการการทำงานพนักงานรับสายและความยุ่งในการรับสายของพนักงาน ความรวดเร็วในการให้บริการ ในแต่ละช่วงเวลา โดยทั่วไปอัตราการวางสายของลูกค้าโดยเฉลี่ย ควรจะอยู่ที่ 5 – 8 %
ระยะเวลารอสายโดยเฉลี่ยของลูกค้า (Average Wait Time : AWT)
โดยปกติลูกค้าจะวางสายถ้ารอนานเกิน 1 นาที และจะสร้างความไม่ประทับใจต่อการให้บริการ ดังนั้นตัวเลขของระยะเวลาในรอสายโดยเฉลี่ยจึงไม่ควรเกิน 45 วินาที หรือยิ่งต่ำยิ่งดี
อัตราสายเรียกเข้า (Call Arrival Rate)
จำนวนสายที่โทรเข้ามายังศูนย์ Call Center ใช้สำหรับการจัดตารางการทำงานของพนักงานรับสาย ในวันที่ยุ่งที่สุด ศูนย์ Call Center จะต้องมีพนักงานที่พร้อมรับสายลูกค้าเสมอ
ระยะเวลาโดยเฉลี่ยที่ใช้ในการรับสาย (Average Call Duration)
เป็นระยะเวลาที่ใช้ระหว่างลูกค้ากับพนักงานรับสาย โดยคำนวนจากจำนวนเวลาทั้งหมดที่ใช้ในการสนทนาหารด้วยจำนวนสายที่สนทนา ใช้วัดประสิทธิภาพของพนักงานรับสายว่าสามารถใช้เวลาในการจัดการแก้ปัญหาให้ลูกค้าได้นานขนาดไหน โดยปกติจะอยู่ที่ประมาณ 4 นาที
ระยะเวลาโดยเฉลี่ยที่พนักงานรับสายให้บริการลูกค้า (Average Handle Time :AHT)
เริ่มนับจากเวลาที่ลูกค้ากดโทร จนถึงเวลาที่พนักงานรับสายวางสายจากลูกค้าและพร้อมรับสายลูกค้าคนใหม่ ระยะเวลานี้จะรวมถึงเวลาที่ลูกค้าใช้ในการรอคิว เวลาที่ใช้ฟังข้อความผ่านระบบ IVR และเวลาที่ใช้ในการสนทนากับพนักงานรับสาย เวลาพักสายรอในการค้นหาข้อมูล จนถึงเวลาที่พนักงานรับสายบันทึกข้อมูล หรือส่งติดตามงานงาน
ระยะเวลาที่พนักงานรับสายให้บริการลูกค้าจะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ความสามารถในการรับมือกับปัญหา ระดับความยากง่ายของปัญหา และระบบ Call Center ที่ช่วยให้พนักงานรับสายทำงานได้ดีขึ้น ทั้งนี้ผู้บริหารต้องคำนึงถึงคุณภาพในการให้บริการเป็นหลัก การเน้นเวลารับสายที่น้อยเกินไปอาจะทำให้พนักงานรับสายต้องเร่งรีบและให้บริการอย่างไม่มีประสิทธิภาพ
ระยะเวลาโดยเฉลี่ยในการบันทึกหรือส่งต่องาน (Average After-Call Work Time : ACW)
เรียกอีกอย่างว่า Wrap time เป็นช่วงเวลาที่พนักงานรับสายใช้บันทึกข้อมูลหรือส่งต่องานหลังจบการสนทนากับลูกค้า โดยยังไม่ได้เปิดสถานะรับสายใหม่ แน่นอนว่าเวลาที่ใช้ในการบันทึกหรือส่งต่องานต่ำ จะช่วยให้พนักงานมีเวลารับสายกับลูกค้ามากขึ้น การอบรมให้ความรู้ในการบันทึก ระบบที่ใช้ในการส่งต่องาน ก็มีส่วนช่วยให้พนักงานรับสายทำงานได้ง่าย สะดวกและรวดเร็วมากขึ้น ทั้งนี้เวลาบันทึกข้อมูลหลังจบการสนทนาไม่ควรเกิน 45 วินาที
คะแนนระดับความพึงพอใจของลูกค้า (Customer Satisfaction : CSAT)
เป็นการให้คะแนนความพึงพอใจต่อสินค้าหรือบริการที่ลูกค้าได้รับ โดยส่วนใหญ่จะเป็นตัวเลข ค่าตัวเลขที่สูงจะแสดงถึงความพึงพอใจของลูกค้า เป็นตัวชี้วัดที่ใช้ในการปรับปรุงคุณภาพ ใช้เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และรักษาความพึงพอใจของลูกค้า
คะแนนในการบอกต่อ (Net Promoter Score : NPS)
ใช้วัดความชอบของลูกค้าที่มีต่อสินค้าและบริการ และมีแนวโน้มว่าจะบอกต่อเพื่อน คนในครอบครัว เพื่อให้มาใช้สินค้าและบริการอีกด้วย ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มีการรับรู้หรือมองเห็นได้มากยิ่งขึ้น
การแก้ไขปัญหาสำเร็จในครั้งแรก (First Contact Resolution : FCR)
ใช้วัดว่าลูกค้าสามารถได้รับการแก้ปัญหาภายในครั้งแรกที่โทรเข้ามาหรือไม่ หากตัวชี้วัดนี้ มีตัวเลขสูงแสดงว่าปัญหาได้รับการแก้ไขในการโทรครั้งแรก จะทำให้ลูกค้ามีความพึงพอใจมากขึ้น ลดความหงุดหงิด รำคาญใจ ที่ได้รับ ส่งผลดีต่อภาพลักษณ์ของธุรกิจโดยรวมอีกด้วย